Accessibility Tools

ศาลยุติธรรม
Court of Justice

ข่าวสารและกิจกรรม
image

ศาลยุติธรรม

ประธานศาลฎีกาเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 45 การประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนพลัส ครั้งที่ 2 และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 11image

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย และในฐานะประธานศาลสูงสุดแห่งประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 45 (45th ASEAN Law Association Governing Council Meeting) และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนพลัส ครั้งที่ 2 (2nd CACJ ASEAN+ Meeting) ณ เมืองเซบู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 
โดยมีนายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ นางมัณทรี อุชชิน ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ อาทิ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด สภาทนายความ และคณะนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 45 ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้แสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินงานและให้การสนับสนุนภารกิจของสมาคมกฎหมายอาเซียน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างนักกฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

ต่อมา ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ในการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนพลัส ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้การทำงานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือทางการศาลระหว่างประเทศอาเซียน ไปยังประเทศนอกเขตภูมิภาค โดยมีประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบนั้น นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้ดำเนินการประชุม ภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาใช้ในศาลยุติธรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม : การมีส่วนร่วมของคู่ความที่เป็นประชาชนทั่วไปและการพิจารณาคดีของศาล” อันเป็นการสร้างเวทีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติของศาลยุติธรรมในประเทศต่าง ๆ ไม่เฉพาะในอาเซียนซึ่งมีประธานศาลสูงสุดหรือผู้แทนของแต่ละประเทศเข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังมีประธานศาลสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานศาลฎีกาแห่งประเทศญี่ปุ่น และผู้แทนประธานศาลฎีกาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมการประชุมและการอภิปรายด้วย

 

 

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานศาลสูงสุดแห่งประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมผู้แทนศาลยุติธรรมไทย เข้าร่วมการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 11 (11th Council of ASEAN Chief Justices Meeting)  

การประชุมฯ ดังกล่าวที่ประชุม ฯ มีมติเห็นชอบให้มี "สัปดาห์การประชุมคณะทำงานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน " หรือ  "CACJ Working Week" เป็นประจำทุกปีเพื่อเปิดโอกาสให้คณะทำงานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนในด้านต่างๆ ทั้ง 8 คณะ มีโอกาสพบปะเพื่อเปลี่ยนและระดมความคิด พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ ในการจัดสัปดาห์การประชุมคณะทำงานสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งแรก จะจัดขึ้นในปี 2568 ณ ประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมฯ   ประธานศาลฎีกา ในฐานะสมาชิกสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ร่วมลงนามในปฏิญญาเซบู อันเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันของสมาชิกสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในการส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างความร่วมมือของศาลและดำเนินภารกิจที่ต่อเนื่องของสภา ฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อศาลยุติธรรมของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนแห่งนี้

 

 

เกร็ดความรู้

สมาคมกฎหมายอาเซียน

1) สมาคมกฎหมายอาเซียน (ASEAN Law  Association) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2522 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างนักกฎหมายของประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียน นักกฎหมายซึ่งเป็นสมาชิกสมาคม ฯ ประกอบด้วยตุลาการ อัยการ ทนายความ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อ พ.ศ. 2523 ให้ผู้แทนจากหน่วยราชการต่าง ๆ ร่วมอยู่ในคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียน  ได้แก่ ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภา คณบดีคณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ

2) สภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (Council of ASEAN Chief Justices) มีสมาชิกประกอบด้วยประธานศาลฎีกาของประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียน ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดเห็น รวมทั้งแนวปฏิบัติทางการศาลระหว่างประเทศสมาชิก และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการศาลระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของศาลยุติธรรมในเขตภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน มีการจัดตั้งคณะทำงานในด้านต่าง ๆ  โดยมีประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งสิ้น 8 คณะได้แก่ คณะทำงานว่าด้วยการประชุมอาเซียนพลัส (ASEAN+ Meetings)  คณะทำงานด้านการศึกษาและการอบรมทางการศาล (Judicial Education and Training) คณะทำงานด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการศาลในภูมิภาคอาเซียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ASEAN Judiciaries Portal)  คณะทำงานด้านการบริหารจัดการคดีและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในศาลยุติธรรม (Case Management and Court Technology)  คณะทำงานด้านข้อพิพาทเกี่ยวกับเด็กที่มีบิดามารดาต่างสัญชาติกัน (Cross-Border Disputes Involving Children)  คณะทำงานว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแพ่ง (Civil Proceedings within ASEAN) คณะทำงานด้านการศึกษาบทบาทในอนาคตของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน (Future Work of the CACJ) และคณะทำงานว่าด้วยแนวทางการพิจารณาคดีผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Conduct of Videoconferencing Hearings) 

 

ทั้งนี้ คณะทำงานว่าด้วยการประชุมอาเซียนพลัส (ASEAN+ Meetings) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบนั้น มีวัตถุประสงค์ขยายเครือข่ายทางการศาลไปยังประเทศอื่นๆ นอกเขตภูมิภาคอาเซียน โดยในการประชุมประธานสภาศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา คณะทำงาน ฯ ได้จัดการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาใช้ในศาลยุติธรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม : การมีส่วนร่วมของคู่ความที่เป็นประชาชนทั่วไปและการพิจารณาคดีของศาล” และได้เชิญประธานศาลฎีกาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานศาลฎีกาแห่งประเทศญี่ปุ่น และผู้แทนประธานศาลฎีกาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องหัวข้อดังกล่าวด้วย