Accessibility Tools

ศาลยุติธรรม
Court of Justice

เกี่ยวกับเรา
image

ศาลยุติธรรม

เกี่ยวกับสำนักงานศาลยุติธรรมimage

สำนักงานศาลยุติธรรม

อาคาร สำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งอยู่ที่ ถนนรัชดาภิเษก

         นับจากวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ ศาลยุติธรรมได้แยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรม โดยมีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นหน่วยธุรการ และมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา

อำนาจหน้าที่

          สำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการศาลยุติธรรม อาทิ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี การบริหารการเงิน การพัสดุ การวางแผนเกี่ยวกับบุคลากรการบริหารจัดการอาคารสถานที่ งานทางวิชาการ และงานส่งเสริมงานตุลาการ ซึ่งลักษณะของงานเหล่านี้เป็นไปตามลักษณะของการบริหารองค์กรหรือหน่วยงาน และที่สำคัญคือการสนับสนุนงานตุลาการอันเป็นภารกิจหลักให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นเลิศในการอำนวยความยุติธรรม

หน่วยงานในสำนักงานศาลยุติธรรม

          ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม งานส่งเสริมตุลาการและงานวิชาการ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ศาลยุติธรรม รวมทั้งเสริมสร้างให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมี
ส่วนราชการภายในประกอบด้วย

ส่วนกลาง

       เป็นหน่วยประสาน กำกับ ติดตาม ให้คำปรึกษา แนะนำ และวางหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ

ส่วนภูมิภาค

       มีหน่วยงานระดับภาคจำนวน ๙ หน่วยงาน คือ สำนักศาลยุติธรรมประจำภาค ๑ - ภาค ๙ โดยเป็นหน่วยส่งเสริมสนับสนุนงานศาลในด้านบริหารจัดการและด้านวิชาการให้กับหน่วยงาน
ในเขตอำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาค

ส่วนสนับสนุนงานศาล

       ได้แก่ หน่วยงานระดับสำนักอำนวยการประจำศาล และหน่วยงานระดับสำนักงานประจำศาล โดยเป็นหน่วยสนับสนุนการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาด้านธุรการ ด้านวิชาการ รวมทั้งการประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ

บทบาทภารกิจ

          บทบาทภารกิจของสำนักงานศาลยุติธรรม มีดังนี้

          ๑) กำหนดนโยบายการบริหารด้านบุคลากร งบประมาณและแผนงานให้เป็นไปตามหลักการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี (Good Governance)

          ๒) ดำเนินการด้านเลขานุการของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) และคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)

          ๓) สรรหาอัตรากำลังข้าราชการตุลาการและธุรการ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพและทักษะอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

          ๔) ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมายและระบบงานของศาลยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

          ๕) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิผลและมูลค่าผลงานต่อหน่วย (Unit Cost)

          ๖) ประสานงานกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

 

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565